กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะเลี่ยงอาหารค้างคืนหรือต้ม ตุ๋น เป็นเวลานานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป มีโอกาสทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง เก็บไม่ถูกวิธีเสี่ยงบูด หากบริโภคเข้าไปอาจทำให้เสี่ยงอาหารเป็นพิษตามมาได้
อาหารอุ่นซ้ำบ่อยๆ ก็เสี่ยงคุณค่าทางโภชนาการลดลง
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปกติประชาชนส่วนใหญ่เมื่อกินอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่ปรุงประกอบในปริมาณมากไม่หมด ก็นำไปเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วนำไปอุ่นรับประทานในมื้อต่อไป โดยอาหารที่มีการอุ่นซ้ำซากหรือต้มตุ๋นเป็นระยะเวลานานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป จะมีโอกาสทำให้คุณค่าด้านโภชนาการลดลง
อาหารค้างคืน เสี่ยงบูดเน่า
อาหารประเภทผักสด ผัดผัก ผักลวก นึ่ง ต้ม ถ้าเหลือแล้วนำไปเก็บไว้รับประทานมื้อต่อไปคุณค่าทางโภชนาการของผักก็จะลดลง และรสชาติจะเปลี่ยนไป นอกจากนี้หากมีการเก็บรักษาไม่ดีพอ อุณหภูมิในการเก็บไม่เหมาะสม จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในระหว่างเก็บก็จะทำให้ท้องเสียหรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นอาหารเป็นพิษได้
อาหารเสี่ยงบูดเน่าง่าย เสี่ยงอาหารเป็นพิษ
- อาหารที่ไม่ได้ผ่านการอุ่นซ้ำ หรือเก็บไว้ในตู้เย็นหลังผ่านการปรุงสุกเกิน 4 ชั่วโมง
- อาหารที่ไม่ผ่านความร้อน หรือผ่านความร้อนน้อย
- อาหารค้างคืนที่มีการอุ่นซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง
- อาหารที่ปรุงสุกเรียบร้อยแล้ว มีการอุ่นซ้ำซาก หรือต้มตุ๋นเรื่อยๆ นาน 4 ชั่วโมงขึ้นไป
- อาหารประเภทกะทิ ที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ และปรุงสุกนานเกิน 4 ชั่วโมง
- อาหารที่อุ่นด้วยความร้อนไม่มากพอ หรืออุ่นร้อนไม่ทั่วถึง (ต้องอุ่นจนเดือด คนอาหารให้ร้อนทั่วถึงทุกจุด)
- อาหารที่มีส่วนประกอบเป็นแป้ง หรือน้ำตาล รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ ที่ปรุงสุกนานเกิน 4 ชั่วโมง และไม่เก็บเข้าตู้เย็น