หลายคนมีสิวบนใบหน้า ซึ่งบางทีมีการรักษาตามข้อมูลต่างๆ ที่มีคนแชร์แต่หารู้ไม่ว่าบางทีการที่สิวบนใบหน้าไม่หายไปสักที อาจมาเพราะการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมโดยการรับประทานแป้งที่มากเกินไปและอาหารหมวดคาร์โบไฮเดรตอย่างจริงจัง หากกินเกินความพอดีก่ออาการผิดปกติที่คุณอาจคาดไม่ถึง
สัปดาห์นี้มีประเด็นเสนอแนะที่บางท่านอยากทราบว่า อาหารในแต่ละหมู่ หากทานมากเกินไปจะส่งผลเสียอย่างไรกับร่างกายบ้าง ผู้เขียนจึงจัดให้ตามคำขอ โดยครั้งนี้ขอเริ่มจากหมู่คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตหรืออาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เป็นสารอาหารหลักอย่างหนึ่งที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับทุกวัน และเป็นสัดส่วนสูงสุดในหมวดอาหารทั้ง 5 หมู่ ทั้งยังเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงหรือพลังงานที่ช่วยให้ร่างกายทำงานต่อไปได้
สำหรับระบบการบริหารพลังงานของร่างกายนั้น จะใช้พลังงานที่สะสมไว้ก่อนเท่านั้น ไม่ได้ใช้พลังงานตรงๆ จากอาหารที่ทานเข้าไปนะคะ การทานอาหารจึงเป็นการนำพลังงานไปสะสมไว้ แล้วจึงนำมาใช้เมื่อต้องการ
หากกล่าวเฉพาะคาร์โบไฮเดรต เมื่อเราทานเข้าไป คาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยให้เล็กลงเป็นน้ำตาลกลูโคส จากนั้นจะถูกสะสมไว้ตามกล้ามเนื้อและตับ หรือเรียกว่า ไกลโคเจน โดยร่างกายของเราเก็บสะสมแป้งได้อย่างจำกัด ที่ตับเก็บได้ 100 กรัม (400 กิโลแคลอรี) ส่วนกล้ามเนื้อเก็บได้ 400 กรัม (1,600 กิโลแคลอรี)
กระบวนการสะสมไกลโคเจนในกล้ามเนื้อนั้นต้องใช้เวลาราว 48 ชั่วโมง เช่นกรณีของนักกีฬาที่เตรียมตัวจะแข่งขัน พวกเขาจะทานอาหารที่ถูกกำหนดสัดส่วนเฉพาะ เพื่อสะสมไกลโคเจนไว้ก่อนการแข่ง 48 ชั่วโมง
ในกรณีของคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักกีฬา หรือคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย การทานแป้งหรือน้ำตาลทำให้สร้างไกลโคเจนได้ดีเช่นกัน แต่ถ้าทานมากประกอบกับใช้พลังงานน้อย ไกลโคเจนที่สะสมไว้ตามกล้ามเนื้อและตับจะมีมากเกินเก็บ สุดท้ายจะถูกแปรรูปเป็นไขมันสะสม และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ การทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินความพอดี ยังก่อให้เกิดปัญหาภายในร่างกายดังนี้
1.เมื่อเราทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป โดยเฉพาะพวกน้ำตาลเชิงเดี่ยว เช่น น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง น้ำตาลในผลไม้ และน้ำตาลในนม น้ำตาลจะเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรดมากเกินไป ร่างกายเกิดภาวะไม่สมดุล จึงมีการดึงแร่ธาตุจากส่วนต่างๆ ภายในร่างกายมาแก้ไขความไม่สมดุล
2.ทำให้เกิดไขมันสะสม น้ำตาลจะถูกเก็บไว้ที่ตับ ในรูปของไกลโคเจน แต่ถ้ามีมากจนเกินไป ตับก็จะส่งไปยังกระแสเลือด และเปลี่ยนเป็นกรดไขมัน โดยจะสะสมไว้ในส่วนของร่างกาย ที่มีการเคลื่อนไหวน้อย เช่น สะโพก ก้น ขาอ่อน หน้าท้องหุ่นไม่ฟิตแอนด์เฟิร์ม
3.หากยังคงทานน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง กรดไขมันจะสะสมไว้ที่อวัยวะภายในอื่นๆ เช่น หัวใจ ตับ และไต ดังนั้น อวัยวะเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกห่อหุ้มด้วยไขมันและน้ำเมือก ร่างกายจะเริ่มผิดปกติ ความดันเลือดจะสูงขึ้น
4.การทานน้ำตาลมากเกินไป มีผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน
5.อาการปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นตะคริวเวลามีรอบเดือน เป็นสิว มีผื่น แผลพุพอง ตกกระ ริดสีดวงทวาร ไมเกรน เบาหวาน วัณโรค โรคหัวใจ มะเร็งตับ เหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับการทานน้ำตาลมากเกินไป
6.น้ำตาลทำให้อาการของโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเชื้อโรคทุกชนิดใช้น้ำตาลเป็นอาหาร
7.ปริมาณน้ำตาลที่เกินพอดี นอกจากจะมีผลต่อผู้ใหญ่แล้ว ยังมีผลต่อเด็กอีกด้วย เพราะถ้าหากเด็กกินน้ำตาลมากจนเกินไป จะทำให้เด็กเป็นโรคกระดูกเปราะและฟันผุได้ ทั้งยังอาจเป็นคนโกรธง่าย ไม่มีสมาธิในสิ่งที่ทำอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ มีงานวิจัยและข้อมูลทางวิชาการบางส่วนชี้ว่า การทานคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไป อาจมีความเสี่ยงก่อโรคและส่งผลเสียต่อโรคบางโรค เช่น เบาหวาน มะเร็ง อัลไซเมอร์ หรือโรคเกี่ยวกับดวงตา
ในทางตรงกันข้าม หากเราทานคาร์โบไฮเดรตที่น้อยเกินไป ก็อาจส่งผลต่อร่างกายได้ดังนี้ คือ ทำให้ไขมันเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เกิดสารพวกคีโทน (ketone bodies) ในเลือด ซึ่งมีปฏิกิริยาเป็นกรดต่อร่างกาย โปรตีนจะถูกเผาไหม้ให้เป็นพลังงานแทน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดอาการอ่อนเพลีย และหมดสติได้
มากไปก็ไม่ดี น้อยจนเกินความพอดีก็อันตราย ดังนั้น ควรยึดทางสายกลางกันไว้ อยากมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ควรใส่ใจสิ่งที่เราจะทานเข้าไปกันสักนิด อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat