จากความสำเร็จของสภาคอนเกรสของเม็กซิโก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ผ่านกฎหมายขึ้นภาษีอาหารขยะ ทั้งน้ำอัดลมและเครื่องดื่มประเภทน้ำหวานเพิ่มอีก 1 เปโซต่อลิตร และภาษีขนมขบเคี้ยว ร้อยละ 8 เป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของประเทศที่พยายามต่อสู้เพื่อปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชากรในประเทศจากการคุกคามของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา นักวิชาการไทยตบเท้าร่วมสนับสนุนรัฐให้ใช้กลไกภาษีเป็นอีกช่องทางปกป้องประชากรไทยและเศรษฐกิจประเทศ
นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า เราต้องชื่นชมรัฐบาลเม็กซิโกที่กล้าหาญและมองระยะยาว ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตประชากรตนเองเป็นหลัก ชาวเม็กซิโกขึ้นชื่อว่าดื่มน้ำอัดลมมากที่สุดในโลก และมีการศึกษาว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานมีความเชื่อมโยงกับการบริโภคขนมขบเคี้ยวด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 30,000 ล้านบาท/ปี เพื่อดูแลคนที่เป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วน โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พิการ และสูญเสียโอกาสถูกจ้างงาน เป็นภาระครอบครัว สังคม ดังนั้น มาตรการทางภาษีและราคาในอาหารขยะเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจัดการปัญหาพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เพื่อควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในระดับประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
นางสาวสุลัดดา พงษ์อุทธา นักวิจัยแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เสนอว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้กลไกภาษีที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ที่จัดเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่มีรสหวานหลายประเภท แต่เน้นเก็บเพื่อเพิ่มรายได้รัฐ ทำให้อัตราการจัดเก็บหรือยกเว้นภาษีในเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ไม่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพ เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลกลับถูกเก็บภาษีต่ำกว่าเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาล และเครื่องดื่มบางประเภทถูกเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราเพดานมาก และกรมสรรพสามิตยังไม่มีการปรับอัตราภาษีมานานมากตั้งแต่มีพระราชบัญญัติฯ
ดังนั้นรัฐสามารถปรับภาษีให้เต็มเพดานได้ และสามารถกำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บโดยใช้ระดับปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเป็นเกณฑ์ โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากขึ้นควรถูกเก็บภาษีในอัตราที่มากขึ้นตามไปด้วย
ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เผยว่า มาตรการทางภาษีและราคาถือเป็นกลไกที่ได้รับการยอมรับระดับโลกว่ามีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการจัดการพฤติกรรมการบริโภคอาหารขยะ ปัจจุบันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงเพิ่มขึ้นแม้ว่าประเทศไทยมีพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตปี 2527 แต่เมื่อศึกษาปริมาณการบริโภคน้ำตาลทรายโดยตรงและอ้อมในประเทศไทยปี 2540-2552 พบว่า คนไทยยังมีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ตันในปี 2540 เป็น 1.97 ตันในปี 2552 โดยคนไทยได้รับน้ำตาลทางอ้อมจากเครื่องดื่มคิดเป็น 46% ของการบริโภคน้ำตาลทางอ้อมทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2540 ถึง 34% ประกอบกับงบประมาณที่ผู้ประกอบการใช้ลงทุนสำหรับการตลาดและการโฆษณาอาหารทางสื่อมวลชนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และกำลังซื้อของคนไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา จากเดิมในปี 2533 ที่ต้องทำงานนาน 25 นาทีถึงจะมีรายได้พอซื้อน้ำอัดลมหนึ่งขวด แต่ในปี 2551 เวลาทำงานลดลงเหลือเพียง 18 นาที
“เราไม่ปฏิเสธว่าการรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้มาตรการเดียวจัดการปัญหานี้แล้วได้ผล เราต้องอาศัยมาตรการจัดการปัจจัยทางราคาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมการบริโภคร่วมด้วย”