ควบคุมอาหารขยะลดเด็กอ้วน-ขี้โรค

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นักเรียนต้องได้รับการคุ้มครองจากการทำการตลาดอาหารขยะ ที่มีน้ำตาล ไขมัน และเกลือในปริมาณที่สูง โดยเฉพาะในโรงเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงได้ง่าย

ทพ.ญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมเรื่องการจัดการอาหารในโรงเรียน จัดโดย แผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า เด็กนักเรียนจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองจากผลกระทบเชิงลบจากการทำการตลาดอาหารในโรงเรียน ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะที่มีน้ำตาล ไขมัน เกลือสูง ต่างมองเห็นโรงเรียนเป็นช่องทางในการทำการตลาดเพื่อผลกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และมองนักเรียนเป็นกลุ่มที่ทำการตลาดได้ง่าย

ข้อมูลจากการสำรวจโรงเรียน 291 โรงเรียน โดยสัมภาษณ์เด็ก 8,447 คน พบว่า 50.1% เด็กเคยได้รับตัวอย่างอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างน้อย 1 ครั้งในหนึ่งปีการศึกษา ซึ่งการทำการตลาดดังกล่าวทำให้เด็กซื้ออาหารตามที่โฆษณาในโรงเรียนถึง 30% ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการทำการตลาดมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก แต่การจัดการควบคุมการตลาดอาหารในโรงเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ทพ.ญ.จันทนา กล่าวว่า นานาประเทศมีการตื่นตัวและพยายามควบคุมการตลาดอาหารในโรงเรียน อย่างเช่นองค์การอนามัยโลกที่ได้แนะนำไม่ให้มีการทำการตลาดอาหารน้ำตาล ไขมัน และเกลือสูง อย่างสิ้นเชิงในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กในประเทศไทยที่ผ่านมามักสนใจเฉพาะในประเด็นการมีหรือไม่มีสินค้าขาย เช่น การไม่อนุญาตให้ขายน้ำอัดลมในโรงเรียน แต่ประเด็นการทำการตลาดยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร นักเรียนเองก็ไม่เท่าทันการตลาด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายยังขาดความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ส่งผลให้การดำเนินการคุ้มครองเด็กนักเรียนจากการทำการตลาดอาหารในโรงเรียนยังไม่ก้าวหน้า

น.ส.สุลัดดา พงษ์อุทธา นักวิจัยประจำแผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบรูปแบบการทำการตลาดอาหารในโรงเรียนในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าได้มีการทำการตลาดในรูปแบบแอบแฝงมากยิ่งขึ้น เช่น การมอบทุนการศึกษา การสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์อาหารผ่านทางการแจกอุปกรณ์การเรียนการกีฬา และการจัดกิจกรรมการประกวดต่างๆ นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมอาหารได้ทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงกับโรงเรียนประเภทต่างๆ เช่น นักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง ข้อมูลการวิจัยพบว่าการแจกตัวอย่างฟรีเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลดีที่สุด และธุรกิจอาหารประเภทไอศกรีมมีกิจกรรมการตลาดที่หลากหลายมากที่สุด จะพบการทำการตลาดที่เข้มข้นหนักหน่วงกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก