อาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

อาหารจานด่วน (Fast Food) คือ อาหารที่ปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว หรือทันเวลาพอดี (Just-in-time) และพร้อมกินได้ทันที ซึ่งโดยทั่วไปคนมักจะนึกถึงแต่อาหารจานด่วนของฝรั่งจำพวก พิซซ่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ ฮอทดอก ฯลฯ หากความจริงแล้วอาหารไทยบางประเภท ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหารจานด่วนด้วยเหมือนกัน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่งทุกชนิด ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีนน้ำยา สุกี้ เป็นต้น ซึ่งอาหารดังกล่าวล้วนมีกรรมวิธีในการปรุงที่รวดเร็วและพร้อมกินได้เลย

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีประโยชน์ครบถ้วนมากนัก หากรู้จักเลือกกินให้เหมาะสมก็พอจะให้คุณค่าทางโภชนาการอยู่บ้าง โดยเฉพาะอาหารจานด่วนของไทย

ส่วนอาหารขยะ (Junk Food) คือ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย หรือแทบไม่มีเลย เรียกว่าอาหารพลังงานสูญเปล่า นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดท็อกซินสะสมในร่างกายอีกด้วย เพราะอาหารประเภทนี้มักจะมีโซเดียมหรือเกลือ น้ำตาล พลังงาน หรือไขมันอย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณที่สูง แต่มีสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามิน เกลือแร่น้อยมาก เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบ ลูกอม หมากฝรั่ง โดนัท ไอศกรีม ขนมหวานต่าง ๆ รวมทั้งอาหารที่ทอดด้วยความร้อนสูงอย่างมันฝรั่งทอดกรอบ ฉะนั้นการกินเป็นประจำ หรือกินปริมาณมาก จะก่อโทษกับร่างกายได้

หลากโรคที่แฝงมากับความเร็ว

โรคอ้วน ผลเสียที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการกินอาหารจานด่วน คือน้ำหนักเพิ่มขึ้น และเมื่อกินบ่อย ๆ ก็จะก่อให้เกิดโรคอ้วน และอีกสารพัดโรคตามมา

โรคกระดูกข้ออักเสบ น้ำหนักส่วนเกินจากการสะสมไขมัน และน้ำตาล จะทำให้กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก และข้อเข่าล้า และมีผลทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพ ช่องข้อต่อจะหดแคบลง และกระดูกข้อต่อจะบดทับกัน

โรคหัวใจ เมื่อกินอาหารที่มีไขมันบ่อย ๆ จะทำให้มีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งอาจทำให้มีการสะสมลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดง

ความดันโลหิต ความเค็มปริมาณสูงจากอาหารดังกล่าว หากสะสมในร่างกายเยอะ ๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิต และโรคไตค่อนข้างสูง

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คนที่กินอาหารดังกล่าวเป็นประจำ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากการสะสมไขมัน โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง

โรคตับ การสะสมไขมันในตับ อาจทำให้เกิดโรคตับแข็งได้

โรคเบาหวาน ผู้ที่มีไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องมากเกินไป มักเกิดภาวะต้านอินซูลิน ทำให้มีการสะสมกลูโคสในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานได้ และภาวะแทรกซ้อนประการหนึ่งคือการทำลายหลอดเลือดในจอตา อันจะทำให้ตาบอดได้

ภาวะไขมันในเลือดสูง คนที่กินอาหารดังกล่าวเป็นประจำ จะมีระดับไขมันในเลือดมากกว่าคนที่ไม่ได้กิน และมีโอกาสเป็นเส้นเลือดในสมองอุดตัน

หลอดเลือดพิการ เพราะอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยแป้งขาว ไขมัน และน้ำตาล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือด

เลือกกินฟาสต์ฟู้ดให้ได้คุณค่าทางโภชนาการ

เพื่อไม่ต้องเสี่ยงกับสารพัดโรคที่มากับอาหารจานด่วนแบบเดิม ๆ เรามีทางเลือกเพื่อสุขภาพให้ดังนี้ค่ะ

ประเภทฟาสต์ฟู้ด : ปลาและมันฝรั่งทอด

ผลเสียที่เกิดกับร่างกาย : แม้ร่างก่ายจะได้รับวิตามินบี 6 บี 12 โปรตีนคาร์โบไฮเดรตสูง และโพแทสเซียมอยู่บ้าง ทว่าอาหารจานนี้ก็มีไขมันสูง ใยอาหารน้อย มีวิตามินเอ ซี ดี โฟเลต และเบต้าแคโรทีนต่ำ ให้ไขมันร้อยละ 30-50 ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน

ทางเลือกเพื่อสุขภาพ : ขนมปังโฮลวีท กับสลัดผักกาดแก้ว มะเขือเทศ หอม น้ำมันมะกอก และน้ำมะนาว เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ แต่มีวิตามินซี ดี โฟเลต และเบต้าแคโรทีนสูง

ประเภทฟาสต์ฟู้ด : แซนด์วิชกับแอปเปิ้ล 1 ผล

ผลเสียที่เกิดกับร่างกาย : หากใช้เนื้อสัตว์คลุกน้ำสลัดข้นมายองเนสกับขนมปังทาเนย คุณจะได้พลังงาน 2 เท่าและไขมัน 3 เท่าของแซนด์วิชปลาทูน่า

ทางเลือกเพื่อสุขภาพ : อาหารจานนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของขนมปัง ส่วนประกอบและปริมาณไส้ของแซนด์วิช หากคุณใช้ขนมปังโฮลวีท ไส้ปลาทูน่ากับผักกาดแก้ว และแอปเปิ้ลไม่ปอกเปลือก คุณจะได้รับคุณค่าทางอาหารมากกว่า

ประเภทฟาสต์ฟู้ด : พิซซ่า

ผลเสียที่เกิดกับร่างกาย : อาหารจานนี้ให้พลังงานและไขมันสูง แต่โปรตีนต่ำ บางครั้งมีเกลือโซเดียมสูง ถ้าเป็นหน้าบลูชีส ซาลามิ เพ็ปเปอโรนิ หรือแฮมระดับไขมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

ทางเลือกเพื่อสุขภาพ : แป้งพิซซ่าที่ทำจากแป้งโฮลวีทจะช่วยเพิ่มใยอาหาร มะเขือเทศให้โปรตีน แคลเซียม และฟอสฟอรัส

ประเภทฟาสต์ฟู้ด : เบอร์เกอร์เนื้อ มันฝรั่งทอด และมิลก์เชก (นมปั่น)

ผลเสียที่เกิดกับร่างกาย : แม้จะมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม แต่ในขณะเดียวกันก็มีไขมันสูงโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว นอกจากนี้ยังมีคอเลสเตอรอลและเกลือโซเดียมสูง รวมทั้งมีสีและสารแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ มีใยอาหารและวิตามินซีต่ำ

ทางเลือกเพื่อสุขภาพ : สลัดที่ใส่พาสต้าชนิดที่ทำจากแป้งโฮลวีท กับผักสดนึ่งพอสุก แป้งโฮลวีทให้ใยอาหาร ผักให้วิตามินซี และเบต้าแคโรทีน ส่วนบล็อกโคลีให้ธาตุเหล็ก

อย่างไรก็ตาม อาหารไม่ใช่ทั้งหมดของการมีสุขภาพดี หากยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่มีผลต่อการสร้างภูมิต้านทานในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การมองโลกในแง่ดี หรือการใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ

10 อาหารขายดีที่อันตราย

แฮมเบอร์เกอร์ ส่วนใหญ่ใส่สารปรุงรส MSG (Monosodium Gutamate) ที่ทำให้ปวดศีรษะและเกิดอาการแพ้ ส่วนเครื่องปรุงรสของเบอร์เกอร์จำพวกพริก กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ล้วนใช้สารก่อมะเร็งจากเกลือเคมีกำมะถัน เพื่อควบคุมความสดของผัก

ฮอทด็อก มักจะใส่สารไนไตรท์ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีไขมันที่มีสารประกอบไม่เปิดเผยอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำไปปิ้งย่างจะเกิดสารพิษชื่ออะคริลิไมด์ ซึ่งเป็นอีกสารหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งและทำลายประสาท

เฟร้นช์ฟรายหรือมันฝรั่งทอด การทอดในอุณหภูมิที่สูงทำให้มีสารอะคริลิไมล์ และน้ำมันที่ใช้ในการทอดมันฝรั่งจะเกิดการออกซิไดซ์ ที่สำคัญมันฝรั่งมีกลีซีมิคอยู่สูงมาก ซึ่งจะเปลี่ยนมันฝรั่งที่เรากินเข้าไปนั้นเป็นน้ำตาลได้เร็วมาก กล่าวคือกินมันฝรั่งทอดหนึ่งหัว จะมีน้ำตาลเท่า ๆ กับเค้กช็อคโกแลตชิ้นโต ๆ เลยทีเดียว

คุกกี้ช็อกโกแลต การกินคุกกี้ช็อกโกแลตบ่อย ๆ จะเพิ่มความกระหายน้ำตาลในร่างกายภายใน 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งการที่ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่สูงเกินไป จะส่งผลให้ผิวหนังเหี่ยวย่น และเกิดริ้วรอยเร็วขึ้น

พิซซ่า ผิวหน้าพิซซ่าที่อบด้วยอุณหภูมิที่สูง อาจมีสารอะคริลิไมล์เกิดขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มหน้าไส้กรอกยังทำให้มีความเสี่ยงสูงจากสารไนไตรน์ สารกันบูดและสารเคมีอื่น ๆ รวมทั้งไขมันอิ่มตัว

น้ำอัดลม ในน้ำอัดลม 1 กระป๋องมีน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงานอยู่ประมาณ 12 ช้อนชา ดังนั้นการกินน้ำอัดลม 1 กระป๋องก็เท่ากับกินแท่งช็อกโกแลตน้ำตาลเหลวดี ๆ นี่เอง

ชิ้นไก่ทอดเนื้อนุ่มไร้กระดูก มีสารฟอสเฟตที่ทำให้ร่างกายเกิดกรด ส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีสารอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นสารพิษที่มีอันตรายต่อสมอง และกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย

ไอศกรีม มีไขมันไฮโดรจีเน็ตและไขมันที่แปรเปลี่ยนไปจากธรรมชาติ และเป็นตัวการที่ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ฮอร์โมนที่ฉีด เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำนมในวัวยังส่งผลให้เกิดเนื้องอก ซีสต์ มะเร็งเต้านม และรังไข่

โดนัท ในโดนัท 1 ชิ้นมีคาร์โบไฮเดรตมากกว่าที่ร่างกายต้องการ และมีเกลือโซเดียมในปริมาณมากซึ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำ นอกจากนี้การทอดในน้ำมันที่มีอุณหภูมิสูงจะมีกลิ่นหืน และมีสารอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง

ขนมขบเคี้ยว การกินขนมขบเคี้ยว 1 ถุงจะทำให้ได้รับสารอะคริริไมด์สูงมากกว่า 500 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราสูงสุดที่อนุญาตให้มีในน้ำดื่มทั่วไป นอกจากนี้ในขนมขบเคี้ยวยังมีไขมันอิ่มตัว เกลือโซเดียมอยู่สูงมาก