66

อาหารขยะของคนอเมริกัน (Junk Food)

ถ้าพูดถึง แฮมเบอร์เกอร์ ฮอทดอก พิซซ่า เฟรนซ์ฟราย น้ำอัดลม หลายคนต้องรู้จักดี ในชื่อเสียงเรียงนามของ “Junk Food” หรืออาหารขยะนั่นเอง Junk Food ถือกำเนิดครั้งแรกในประเทศอเมริกา และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ทว่าอาหารชนิดนี้ไม่เป็นที่โปรดปรานของหมอ และนักโภชนาการเลยค่ะ เพราะในอาหารขยะของคนอเมริกันเหล่านี้เต็มไปด้วย แป้ง ไขมัน น้ำตาล เป็นส่วนประกอบหลัก และอุดมไปด้วยแคลลอรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และอื่นๆ อีกมากมายนับกันไม่หวาดไม่ไหว ถึงแม้ว่าจะมีผลเสียมากมาย แต่อาหารเหล่านี้ก็ยังขายดีสุดสุดในอเมริกา

เหตุที่อาหารขยะเหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นเพราะ ความสะดวก และรวดเร็วเหมาะสำหรับชั่วโมงที่เร่งด่วน แค่เราสั่งอาหารไม่เกินห้านาทีก็ได้อาหารมาทาน เราจึงเรียกมันว่าฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) ยิ่งในอเมริกาแล้ว อาหารเหล่านี้หาทานได้ง่าย มีร้านฟาสต์ฟู้ดอยู่ทุกหัวมุมถนน แถมยังราคาถูก เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารสัญชาติอื่น เช่นอาหารไทย คือถือได้ว่าอาหารบ้านเรากลายเป็นอาหารค่อนข้างหรูไปเลย

666

อาหารฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้ได้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอเมริกันอย่างชนิดที่แยกกันไม่ออกเลยค่ะ ตั้งแต่เด็กน้อยที่ถูกล่อด้วยของเล่นที่มาพร้อมกับอาหารขยะ พ่อแม่ที่โทรสั่งอาหารขยะตอนที่ไม่มีเวลาทำมื้อเย็น อีกทั้งสื่อโฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มุ่งเน้นการตลาดไปยังเหล่าเด็ก และวัยรุ่นให้มาทานอาหารขยะกัน เป็นสิ่งที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันทำสถิติเป็นโรคอ้วนราว 2 ใน 3 และเด็ก 1 ใน 3! เรียกได้ว่าอ้วนท้วนสมบูรณ์กันทั่วประเทศค่ะ คนอเมริกันต้องใช้เงินสูงถึง $147 พันล้านเหรียญต่อปีในการรักษาโรคอ้วน และมีแนวโน้มที่ชาวอเมริกันจะเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมารณรงค์ เชิญชวน หรือแม้แต่เสนอกฏหมายสั่งห้ามจำหน่ายน้ำอัดลมในขนาดบิ๊กไซต์ (มากกว่า 16 ออนซ์) ตามร้านอาหาร โรงหนัง และล้อเข็นอาหาร ในเมืองนิวยอร์กที่กำลังเป็นข่าวฮือฮาในอเมริกาตอนนี้ก็ตาม

6666

ต่อย่างไรก็ดี กฏหมายนี้ก็ได้รับการต่อต้านโดยผู้ขายอาหารขยะเจ้าดังอย่าง โค้ก แมคโดนัล เคเอฟซี หรือแม้แต่ประชาชนบางกลุ่มที่เชื่อว่าการห้ามจำหน่ายน้ำอัดลมเหล่านี้จะไม่ทำให้โรคอ้วนในชาวอเมริกันลดน้อยลง! แถมยังเป็นการจำกัดสิทธิ์ และเสรีภาพในการเลือกทานอาหารอีกต่างหาก แหม ช่างดูวุ่นวายจริงเชียวค่ะ ทางออกในเรื่องนี้ที่ดีทางหนึ่ง น่าจะเป็นการรงณรงค์โน้มน้าว ให้ชาวอเมริกันเปลี่ยนวิถีการกินอาหาร ให้มีความยั้งคิดก่อนจะกินอาหารมากขึ้น และหันมาออกกำลังกายหรือเล่นกีฬากัน

แม้ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องของอาหารขยะมากนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาหารขยะเหล่านี้เริ่มแทรกซึมกับวิถีชีวิตของคนไทยด้วยวิธีการที่คล้ายกับชาวอเมริกัน คือใช้สื่อโฆษณามุ่งเน้นเด็ก และวัยรุ่น แถมยังปรับรสชาติอาหารให้ถูกปากคนไทยมากขึ้นค่ะ วิธีหนึ่งที่เราจะรับมือกับปัญหาอาหารขยะ คือ อ่านฉลากโภชนาการ และส่วนผสม เราจะได้รู้ว่าสิ่งที่เรากินนี้มันอันตรายเพียงใด จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาหารขยะเหมือนชาวอเมริกัน